!https://smemove.com/blog/wp-content/uploads/2023/10/Value-Added-Tax.png
คำว่า “ภ.พ.36” นับว่าเป็นหนึ่งในคำที่หลาย ๆ คน คงจะเคยได้ยินกันมาไม่มากก็น้อย แต่เชื่อว่าชาว SME มือใหม่ หรือผู้ประกอบการป้ายแดงอาจจะยังไม่เข้าใจมากนักว่า ภ.พ.36 คืออะไร แล้วต้องยื่นแบบอย่างไรบ้าง ซึ่งทาง SMEMOVE จะพาคุณมาเจาะลึกภาษีชนิดนี้ให้มากขึ้น พร้อมไขข้อข้องใจว่า ใครบ้างที่ต้องยื่นแบบ แล้วยื่นอย่างไร มีบริการไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม?
!https://smemove.com/blog/wp-content/uploads/2023/10/Value-Added-Tax-1.png
ภ.พ.36 คืออะไร?
ภ.พ.36 คือ แบบที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริษัท จะต้องเป็นผู้ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตรา 7% แทน ซึ่งภาษีดังกล่าวนี้จะเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ หรือก็คือเป็นผู้ให้บริการที่ไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในเมืองไทยนั่นเอง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ
- ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ที่ได้เข้ามาประกอบกิจการ หรือให้บริการในเมืองไทยเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว
- ผู้ประกอบการที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีบริการในราชอาณาจักร โดยผู้รับโอนสินค้าหรือสิทธิในบริการ เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วในอัตราร้อยละ 0
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ หากบริษัท A ได้ทำการซื้อบริการ Facebook Ads และได้รับใบเสร็จรับเงินจากทาง Facebook จะถือว่าได้ซื้อบริการเพื่อนำมาใช้ในราชอาณาจักรไทย และบริษัท A มีหน้าที่ในการยื่นแบบ ภ.พ.36 และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในอัตรา 7% ตามกฎหมาย
ใครมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 บ้าง?
- ผู้ที่ได้จ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ ที่ได้เข้ามาประกอบกิจการในไทยเป็นการชั่วคราว หรือผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ โดยที่มีบริการนั้นในไทยด้วย
- ผู้ที่รับโอนสินค้าหรือสิทธิบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ไม่ว่าจะเป็น การรับโอนสินค้าหรือบริการที่ขายหรือให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล โดยจะเป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
- ผู้ทอดตลาดที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือส่วนราชการซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ถูกยึดตามกฎหมายโดยวิธีอื่น นอกเหนือจากการขายทอดตลาด
!https://smemove.com/blog/wp-content/uploads/2023/10/Value-Added-Tax-2-scaled.jpg
ยื่นแบบ ภ.พ.36 ที่ไหน แล้วยื่นเมื่อไหร่?
โดยปกติแล้วผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ จะต้องดำเนินการยื่น**ภาษีมูลค่าเพิ่ม** หรือยื่นแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หลังจากที่มีการซื้อสินค้าหรือบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาทิ หากซื้อบริการ Facebook Ads ในเดือนมกราคม 2566 ก็ให้นำใบเสร็จที่ได้มายื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้น โดยสามารถยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา แต่ในกรณีที่ยื่นภาษีออนไลน์ (https://efiling.rd.go.th/) กำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
How-To ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 ทางออนไลน์
- เข้าสู่ระบบสำหรับยื่นภาษีออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://efiling.rd.go.th/
- เลือกยื่นแบบ ภ.พ.36
- เลือกการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้ประกอบการ
- กรอกรายละเอียดการชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยใช้ข้อมูลจากใบเสร็จที่ได้รับ
- ใส่จำนวนเงินที่จ่ายในการยื่นแบบฯ แล้วรอระบบคำนวณเงินภาษีที่ต้องนำส่ง
- กดยืนยืนการยื่นภาษแล้วชำระภาษีได้เลย
หมายเหตุ: จำนวนเงินที่ใช้ในการยื่นแบบฯ หรือยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือมูลค่าในใบเสร็จรับเงิน
ข้อดีของการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ควรรู้
ถึงแม้ว่าการยื่นแบบ ภ.พ.36 หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม จะดูยุ่งยากและเป็นภาระงานที่ผู้ประกอบการต้องทำในทุก ๆ เดือน ในกรณีที่มีการซื้อสินค้าหรือบริการกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร แต่การยื่นภาษียังมีข้อดีคือ สามารถนำเงินที่เรานำส่งไปมาเป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไปได้ สำหรับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ได้ด้วย โดยให้ข้อมูลจากรายละเอียดที่ชำระภาษีจากกรมสรรพากร มากรอกในรายงานภาษีซื้อ สำหรับการยื่นขอเคลมภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้เลย
!https://smemove.com/blog/wp-content/uploads/2023/10/Value-Added-Tax-3-scaled.jpg
สาระน่ารู้ ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการยื่นแบบ ภ.พ.36 แล้ว อีกหนึ่งรายการนำส่งภาษีที่ผู้ประกอบการควรรู้ก็คือ ภ.ง.ด.54 ที่มีหลาย ๆ คนยังมีความสับสนกับ ภ.พ.36 อยู่พอสมควร โดย ภ.ง.ด.54 คือ แบบยื่นรายงานนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎาภร
- มาตรา 70 นิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และไม่ได้ประกอบกิจการในไทย แต่ได้รับเงินเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) – (6) ที่จ่ายจากประเทศไทย
- มาตรา 70 ทวิ หรือก็คือเงินได้จากการจำหน่ายกำไร หรือเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่กันไว้จากกำไร ที่ถือว่าเป็นเงินกำไรที่ออกไปจากประเทศไทย โดยให้เสียภาษีเงินได้โดยหักจากจำนวนเงินที่จำหน่ายตามอัตราภาษีเงินได้
เพราะฉะนั้น หากเทียบกันแล้ว ภ.ง.ด.54 และ ภ.พ.36 จะมีความเหมือนกันตรงที่ เป็นการจ่ายเงินให้กับนิติบุคคลไปต่างประเทศ เพียงแต่การยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 จะเป็นการยื่นรายการเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้พึงประเมิน ในขณะที่การยื่นแบบ ภ.พ.36 คือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากสินค้าหรือบริการที่นำมาใช้ในไทย ซึ่งผู้ซื้อสินค้าหรือบริการจะต้องยื่นเอง เนื่องจากผู้ให้บริการไม่ได้ประกอบกิจการในไทย
!https://smemove.com/blog/wp-content/uploads/2023/10/Value-Added-Tax-4-scaled.jpg
จะเห็นได้เลยว่า ภ.พ.36 หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของผู้ประกอบการมาก ๆ เพราะในปัจจุบันนี้ก็มีสินค้าและบริการของต่างประเทศที่หลากหลาย ที่ถูกนำมาให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาะบริการด้าน Facebook Ads และ Google Ads ที่ก็เป็นหนึ่งในบริการยอดฮิต ที่หลาย ๆ องค์กรใช้บริการอยู่ ซึ่งผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลก็ต้องทำการยื่น ภ.พ.36 ด้วย และอย่าลืมว่าหากมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว สามารถนำมาใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไปได้ด้วย และหากอยากรู้ว่าแบบ ภ.พ.36 บันทึกบัญชีอย่างไร สามารถเลือกใช้**โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE** เป็นตัวช่วยสำหรับธุรกิจของคุณได้เลย!